-->

Trending

เที่ยวต่างประเทศ โรงแรม ร้านอาหาร ให้ทิปอย่างไร ควรให้เท่าไหร่ ไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง


บทความนี้ทาง ChaiMiles เขียนขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการให้ทิปในประเทศต่างๆ โดยบทความนี้ ไม่ใช่บทความของเจ้าของผลิตภัณฑ์ และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ChaiMiles อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการคลิก link ในบทความ ขอบคุณที่สนับสนุน ChaiMiles ครับ



สำหรับคนไทย หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการให้ทิปของต่างชาติสักเท่าไหร่ โดยปรกติแล้ว คนไทยเรานิยมให้ทิปก็ต่อเมื่อประทับใจในงานบริการ หรือการให้ทิปในรูปแบบของเงินทอนเล็กๆน้อยๆ หรือจะไม่ให้ทิปเลยก็ไม่ผิดแต่อย่างใด

แต่สำหรับบางประเทศแล้ว การให้ทิปเปรียบเสมือนสิ่งจำเป็น แม้ว่าจะไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็เป็นมารยาททางสังคมที่ต้องให้ แม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตามที เปรียบเสมือนการแช่ออนเซ็นในเรียวกัง ที่ทุกคนจะต้องอาบน้ำ และถอดเสื้อผ้าทั้งหมดก่อนแช่ แม้ว่าไม่ได้มีกฎหมายบังคับ แต่ทุกคนก็ต้องทำตาม

ดังนั้น การเที่ยวต่างประเทศอย่างมีความสุข เข้ากับบริบทของวัฒนธรรมประเทศนั้นๆ การศึกษาวัฒนธรรมการให้ทิปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

วัฒนธรรมการให้ทิป มาจากไหน

หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของการให้ทิปนั้น คงต้องย้อนไปถึงศตวรรษที่ 17 ตามข้อมูลอ้างอิงจากทางตะวันตก การให้ทิปนั้นมีรากฐานมาจากการให้สิ่งตอบแทนแก่คนรับใช้ เมื่อคนรับใช้ทำงานได้ตามที่ต้องการ จนกระทั่งทศวรรษที่ 1850 ถึง 1860 ยุคสมัยแห่งการท่องเที่ยวของชาวอเมริกันก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ชาวอเมริกันผู้ซึ่งเดินทางท่องเที่ยวทวีปยุโรป ได้เห็นวัฒนธรรมการให้ทิปในยุโรป จึงได้นำวัฒนธรรมนี้กลับมาใช้ในอเมริกา (อ้างอิงตามหนังสือ An American Social History of Gratuities ของ Kerry Segrave) ใครจะไปคิด ว่าการให้สิ่งตอบแทนเมื่อได้รับการบริการที่ดี จะนำไปสู่ข้อถกเถียงทางสังคมในเวลาต่อมา

ภายหลังจากสงครามกลางเมืองอเมริกา (America Civil War) สหรัฐอเมริกาได้รวมชาติเป็น 1 เดียวสำเร็จ พร้อมกับการประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการใน 13th Amendment โดยอับราฮัม ลินคอล์น


ชาวผิวสีเดิมที่เคยเป็นทาสทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเดิม หลังจากได้รับอิสระ งานแรกที่ได้ทำก็คืองานบริการ ที่รับค่าตอบแทนน้อยนิด หรือไม่ได้รับค่าตอบแทนเลยก็มี สิ่งเดียวที่ทำให้พนักงานเหล่านี้ยังคงอยู่ได้ ก็คือความเห็นใจของชนชั้นสูงผู้มาใช้บริการ ผ่านเงินเล็กๆน้อยๆ ในรูปแบบของ "ทิป" โดย 1 ใน case study ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องทิปก็คือ Pullman Company บริษัทเดินรถไฟ ที่จ้างคนผิวสีมาให้บริการด้วยค่าอันน้อยนิด (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

Model ในการทำธุรกิจที่เจ้าของร้านอาหารไม่ต้องจ่ายค่าแรงสูงๆให้กับพนักงานเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว (ใครหละจะไม่ชอบ) ด้วยเหตุนี้ การให้ทิปจึงเริ่มแพร่หลาย และกลายเป็นเรื่องปรกติสหรัฐอเมริกา

ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา การให้ทิปยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อย มีทั้งฝ่ายสนับสนุนที่มองว่าการให้ทิปคือสิ่งที่สมควร และมีทั้งฝ่ายต่อต้าน ที่มองว่าการให้ทิปเป็นการเหยียดชนชั้นและกดขี่แรงงาน

ปัจจุบัน แม้แต่กฎหมายแรงงานของทางสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีการแบ่งแยกเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยแยกกลุ่ม Tipped Worker (แรงงานที่ได้รับทิปเกิน 30$ ต่อเดือน) ออกมา โดย Tipped Worker จะมีค่าแรงขั้นต่ำที่ 2.13$ ต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำปรกติของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 7.25$ ต่อชั่วโมง

ขอบคุณภาพจาก https://www.7shifts.com/blog/history-of-tipping-restaurants/

ตามภาพแผนที่ของสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า ยังคงมีหลายรัฐที่คงกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำของ Tipped Worker และ Tip Credit ไว้อยู่ ในขณะที่หลายรัฐก็ได้เปลี่ยนให้ Tipped Worker ได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับแรงงานทั่วไปเรียบร้อยแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.minimum-wage.org/tipped

อย่างในกรณีของ Alaska คือรัฐที่ยกเลิกการใช้ Tipped Worker Minimum Wage โดยให้ Tipped Worker ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐกำหนด และทิปคือรายได้ส่วนเพิ่มของพนักงาน

แต่สำหรับ Alabama นั้นต่างออกไป Tipped Worker ยังคงถูกกำหนดให้มีรายได้ขั้นต่ำที่ 2.13$ ต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยทิปที่ได้จากลูกค้าจะอยู่ในส่วนของ Tip Credit โดยที่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานเพิ่มเติมให้ครบ 5.12$ ต่อชั่วโมง ในกรณีที่ทิปจากลูกค้านั้นไม่ถึง 5.12$ ต่อชั่วโมง

จะเห็นได้ว่า มีเพียง 7 รัฐ จากทั้หมด 50 รัฐของอเมริกาเท่านั้นที่ยกเลิก Tip Credit ส่วนอีก 43 รัฐ รายได้ของพนักงานบริการ ยังคงอิงตาม "ทิป" เป็นหลัก

ในเมื่อกฎหมายของสหรัฐอเมริกายังคง Tip Credit และ Tipped Worker ไว้อยู่ ก็ไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันจะเคยชินกับการให้ทิป ในมุมที่ว่า พนักงานบริการนั้นรายได้ต่ำ แต่ต้องทำงานหนัก เงินจากการทิปจึงเป็นส่วนนึงของร้ายได้พนักงานบริการ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปรกติของชาวอเมริกันมานานกว่า 100 ปี จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการให้ทิปแบบทุกวันนี้นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก https://americajosh.com/learn-more/tipping/

ก่อนจะจบเรื่องที่มาของวัฒนธรรมการให้ทิป ChaiMiles พาไปดูข้อมูลการให้ทิป ณ ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า การให้ทิปถูกกำหนดไว้แล้วว่า "ควร" ต้องให้เท่าไหร่ ถือเป็นส่วนนึงของรายจ่ายส่วนเพิ่ม เมื่อไปใช้บริการต่างๆ

เที่ยวประเทศไหน ต้องให้ทิปเท่าไหร่ ตอนไหน

แม้ว่าวัฒนธรรมการให้ทิปจะเริ่มต้นจากยุโรป แพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา และกระจายไปทั่วโลก แต่การให้ทิปก็ไม่ใช่เรื่องปรกติของทุกประเทศแต่อย่างใด

เนื่องจากวัฒนธรรม กฎหมาย และความเชื่อที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมการให้ทิปจึงแตกต่าง อย่างในกรณีของประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นที่มีความภาคภูมิใจในงานที่ตัวเอง และตั้งใจทำงานตัวเองให้ดีที่สุด งานบริการจึงออกมาดีโดยที่ไม่คาดหวังทิปจากงานบริการแต่อย่างใด การให้ทิปในประเทศญี่ปุ่น จึงเปรียบเสมือนการเสียมารยาทต่อความภาคภูมิใจในงานบริการของคนนั้นๆ

หรือในกรณีของประเทศไทย การให้ทิปก็ไม่ได้เป็นเรื่องปรกติ แต่ก็สามารถให้ได้หากพึงพอใจในงานบริการ หรือในร้านบางแห่งที่รวม Service Charge 10% อยู่แล้ว การให้ทิปในรูปแบบของเงินทอนนิดๆหน่อยๆก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร

แต่สำหรับประเทศผู้นำวัฒนธรรมการให้ทิปอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการให้ทิปจะไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นมารยาททางสังคมที่คนอเมริกันรู้กันว่าจะต้องให้ทิป 15% - 20% ของค่าอาหาร และถ้าหากไม่ให้ทิปก็อาจจะถูกพนักงานทวงถามได้เช่นกัน

การให้ทิปในร้านอาหาร

ประเทศ ร้านอาหาร หมายเหตุ
Americas
United States 15 - 20% มีธรรมเนียมการให้ทิป ถ้ามี Service Charge อยู่แล้วก็ทิปเพิ่มให้ถึง 15% - 20%
Canada 15 - 20% มีธรรมเนียมการให้ทิป ถ้ามี Service Charge อยู่แล้วก็ทิปเพิ่มให้ถึง 15% - 20%
Colombia 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Mexico 10 - 15% มีธรรมเนียมการให้ทิป
Peru 10 - 15% มีธรรมเนียมการให้ทิป
Argentina 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Brazil 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Chile 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Costa Rica 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Europe
Netherland 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Czech Republic 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Italy 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
England 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
France 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Hungary 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Spain 0 - 10% ให้ตามความพึงพอใจ
Sweden 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Middle East and Africa
Qatar 5 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
Saudi Arabia 5 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
UAE 10 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
Jordan 10 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
Morroco 10 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
South Africa 10 - 15% ควรให้ ถ้าไม่มี Service Charge
Asia Pacific
China 0% ไม่นิยมให้ทิป
Hong Kong 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Myanmar 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Singapore 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Taipei 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Japan 0% ไม่นิยมให้ทิป
Nepal 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Cambodia 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Indonesia 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Thailand 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Vietnam 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Turkey 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
Australia 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
New Zealand 0 - 5% ให้ตามความพึงพอใจ
ข้อมูลข้างต้น เป็นเพียง guideline เท่านั้น

ตามตารางด้านบน เป็นเพียง guideline สำหรับการให้ทิปในประเทศต่างๆเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎข้อบังคับแต่อย่างใด การให้ทิปเป็นเพียงมารยาททางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเท่านั้น

ข้อสังเกตุ

ก่อนที่จะให้ทิปที่ร้านอาหาร อย่าลืมตรวจสอบบิลให้เรียบร้อย ปัจจุบัน ร้านอาหารในหลายประเทศได้รวมเอา Auto Gratuity เข้าไปในบิลเรียบร้อยแล้วหรือยัง ถ้าหากในบิลขึ้น Auto Gratuity เรียบร้อยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทิปเพิ่มแต่อย่างใด หรือจะทิปเพิ่มในกรณีที่ประทับใจในงานบริการก็ได้เช่นกัน

สำหรับในต่างประเทศ Service Charge ไม่เท่ากับ Gratuity โดย Service Charge จะเป็นรายได้ที่เข้าตรงไปที่ร้านอาหาร หรือ โรงแรม จากนั้นก็ขึ้นกับนโยบายของร้านอาหาร หรือโรงแรม ว่าจะบริหารเงินค่า Service Charge อย่างไร แต่ Gratuity คือเงินที่ลูกค้าส่งต่อถึงพนักงานบริการทั้งหมด

การให้ทิปในโรงแรม

การให้ทิปในโรงแรมนั้นค่อนข้างเป็นสากลกว่าร้านอาหาร โดยปรกติแล้ว โรงแรมส่วนใหญ่จะมี Service Charge หรือ Gratuity รวมอยู่ในบิล ดังนั้น การให้ทิปเมื่อใช้บริการต่างๆในโรงแรมจึงเป็นเรื่องของความพึงพอใจในงานบริการ ไม่ได้เป็นธรรมเนียมบังคับทิปแต่อย่างใด

โดยปรกติแล้ว นักท่องเที่ยวนิยมให้ทิปพนักงานส่วนต่างๆในรูปแบบของเงินสด โดยเป็นการยื่นให้โดยตรง หรือเขียน note ทิ้งไว้พร้อมวางทิปไว้ใต้ note

การทิปในโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องให้ทุกครั้ง การให้ทิปเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาที่จำเป็นต้องให้ทิปเสมอ
ส่วนงาน Guideline Tip หมายเหตุ
พนักงานยกกระเป๋า 1 $ ต่อใบ
พนักงานทำความสะอาด 1 - 2$ ต่อคืน
Valet Parking 2 - 5$
Bartender 1 - 2$ ต่อแก้ว นิยมให้เฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลข้างต้น เป็นเพียง guideline เท่านั้น

สรุปรายละเอียด

วัฒนธรรมการให้ทิปเป็นมารยาททางสังคมอย่างนึง การเลือกที่จะเที่ยวต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้มารยาททางสังคมเหล่านี้ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะดูแตกต่างกับความเป็นอยู่ปรกติในประเทศ หรืออาจจะขัดใจกับความคิดส่วนตัวไปบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ และทำให้การเที่ยวต่างประเทศหมดสนุก เรียกได้ว่า "รู้ไว้ก่อน จะได้ไม่ตกใจเมื่อไปถึง"

สำหรับ ChaiMiles ทุกครั้งที่เดินทางไปเที่ยวประเทศต่างๆ สิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ก็จะเป็นเรื่องการมารยาทในการท่องเที่ยว รวมถึงมารยาทในการให้ทิปนี่แหละ และถ้าประเทศไหนที่คิดว่าวัฒนธรรมทางสังคมตรงกับจริตในการท่องเที่ยวของเรา แม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวจะสวยแค่ไหน ChaiMiles ก็จะเลือกที่ไม่ไปประเทศนั้นๆ เพราะทั่วโลกยังมีอีกเป็นร้อยประเทศให้เดินทาง

บทความนี้เป็นเพียง guideline เรื่องการทิป เป็นการให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้เป็นการชี้นำเรื่องการทิปแต่อย่างใด



โดยปรกติแล้ว การใช้บัตรเครดิตชำระค่าตั๋วเครื่องบินจะมาพร้อมประกันอุบัติเหตุ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ เที่ยวบินล่าช้า หรือกระเป๋าสูญหาย (เฉพาะบัตรเครดิตบางประเภท เงื่อนไขเป็นไปตามที่เจ้าของผลิตภัณฑ์กำหนด) ซึ่งประกันส่วนนี้จะไม่ครอบคลุมการเจ็บป่วยขณะท่องเที่ยว

เพื่อให้สามารถเที่ยวได้อย่างสบาย หมดห่วงเรื่องสุขภาพขณะที่อยู่ต่างประเทศ ChaiMiles แนะนำให้ทำประกันการเดินทางทุกครั้ง มีไว้แล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี 

โดยส่วนตัวแล้วชอบใช้ของ MSIG เนื่องจากเคยเคลมประกันท่องเที่ยวแล้วพนักงานติดต่อง่าย เอกสารการเคลมไม่ยุ่งยาก และสามารถเคลมได้จริง สนใจซื้อประกันการเดินทางกับ MSIG คลิกที่นี่


Post a Comment

Previous Post Next Post