บัตรเครดิต จ่ายช้า จ่ายขาด ถูกคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่
บทความนี้ทาง ChaiMiles เขียนขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลจากทาง IHG One Rewards
เพื่อให้เห็นถึงสิทธิประโยชน์ของสมาชิกเครือโรงแรม โดยบทความนี้
ไม่ใช่บทความของเจ้าของผลิตภัณฑ์
และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ | ChaiMiles
อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการคลิก link ในบทความ ขอบคุณที่สนับสนุน ChaiMiles
1. ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
2. บัตรเครดิต คิดดอกเบี้ยยังไง
3. ทำอย่างไรเมื่อถูกคิดดอกเบี้ย
4. สรุปรายละเอียด
ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
การใช้งานบัตรเครดิต มีความพิเศษอย่างนึงคือ เราสามารถใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า
หรือบริการวันนี้ และค่อยชำระเงินเมื่อถึงเวลาเรียกชำระเงิน
โดยช่วงเวลาระหว่างวันที่เราซื้อสินค้า จนถึงวันที่เรียกชำระเงิน
เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า "ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย"
โดยแต่ละสถาบันการเงิน จะมีการกหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน
โดยขั้นต่ำจะอยู่ที่ 45 วัน
สถาบันการเงิน | ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยสูงสุด |
AEON | 52 วัน |
AMEX | 55 วัน |
Bangkok Bank | 45 วัน |
Bank of China | 52 วัน |
CardX (SCB) | 51 วัน |
GSB | 45 วัน |
ICBC | 56 วัน |
Kasikorn Bank | 45 วัน |
Krungsri | 50 วัน |
KTC | 45 วัน |
TTB | 50 วัน |
UOB | 55 วัน |
บัตรเครดิตที่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยสั้นที่สุดคือ
- ธนาคารออมสิน (GSB)
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
- เคทีซี (KTC)
ส่วนบัตรเครดิตที่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานที่สุดคือ ธนาคารไอซีบีซี (ICBC)
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดยังไง
โดยปรกติของการใช้บัตรเครดิต หากชำระเงินเต็มจำนวนภายในวันที่เรียกเก็บ
จะไม่เสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต เพราะยังอยู่ในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
แต่ถ้าหากชำระเงินไม่ครบตามจำนวนเงินที่เรียกเก็บ (ไม่ว่าจะชำระขั้นต่ำ
หรือชำระขาดไปเพียง 1 บาท) ทางสถาบันการเงินจะเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 16%
ต่อปี
วิธีการคิดดอกเบี้ยของบัตรเครดิต จะคิดแยก 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนที่ 1 ดอกเบี้ยเงินต้น - ส่วนนี้จะคิดดอกเบี้ยจากวันที่ใช้จ่าย
จนถึงวันที่ครบกำหนดชำระ
ส่วนที่ 2 ดอกเบี้ยค้างชำระ - ส่วนนี้จะคิดจากยอดเงินค้างชำระ
จนถึงวันที่ชำระเงินครบเต็มจำนวน
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต KTC
18 พฤษภาคม - ใช้จ่าย 20,000 บาท
17 มิถุนายน - สรุปยอดบัตรเครดิต
2 กรกฎาคม - วันกำหนดชำระ (ชำระไปเพียง 2,000)
ดอกเบี้ยเงินต้น
จะถูกคำนวณจากวันที่บันทึกรายการ จนถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน ( วันที่ 18
พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม = 45 วัน )
(20,000 บาท × 16% × 45 วัน) = 393.44บาท
ดอกเบี้ยค้างชำระ
จะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำ จนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป ( 2 – 17
กรกฎาคม = 16 วัน )
(20,000 - 2,000 บาท) × 16% × 16 วัน = 125.9 บาท
ทำอย่างไร เมื่อถูกคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต
สำหรับคนที่ชำระเงินครบเป็นปรกติ หากเกิดความผิดพลาดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น
ดูยอดผิด ทำให้ชำระขาดไปเล็กน้อย หรือจำวันผิด ทำให้ชำระไป 3-4 วัน ChaiMiles
แนะนำให้ติดต่อธนาคารเพื่อขอยกเว้นดอกเบี้ยบัตรเครดิต
อย่างเคสของ ChaiMiles เนื่องจากเป็นบัตรเครดิตที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน
ทำให้ชำระเงินช้าไปหลายวันอยู่ ก็โทรติดต่อธนาคารกรุงเทพเพื่อขอยกเว้นดอกเบี้ย
ตรงนี้พนักงาน Call Center ก็รับเรื่องและประสานงานให้เรียบร้อย
ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 รอบบิล ค่าดอกเบี้ยก็ถูกออกเอาจากบัตรเครดิต
สรุปรายละเอียด
บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่ง
ที่ช่วยให้มีอำนาจการใช้จ่ายสูงขึ้น ข้อดีของบัตรเครดิตมีมากมายมหาศาล
ทั้งแง่ของโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ การสะสมคะแนนใช้แลกเป็นส่วนลด
สะสมไมล์ใช้แลกตั๋วเครื่องบิน
รวมถึงบัตรเครดิตบางประเภทที่ให้เครดิตเงินคืนจากการใช้จ่ายรูปแบบต่างๆ
แต่การใช้บัตรเครดิตผิดวัตถุประสงค์ จะตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากๆ
ChaiMiles แนะนำให้ใช้บัตรเครดิตให้พอดีกับรายได้
และควรชำระเงินคืนให้ครบเต็มจำนวนเสมอ
Tags:
Credit Card